อิสราเอล-อิหร่านปะทะหนัก “ทองคำ” และ “น้ำมัน” ผันผวน
Gold Bullish
- ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่านทวีความรุนแรง
- ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามในหลายด้าน
- การเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
Gold Bearish
- ความผันผวนจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ในตะวันออกกลาง
- ความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งจะยุติผ่านการทูต
อิสราเอล-อิหร่านปะทะหนัก ราคา “ทองคำ” และ “น้ำมัน” ผันผวน
ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นกว่า 0.5% ในช่วงเช้าวันจันทร์แตะที่ประมาณ 3,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดตลอดกาลที่เคยทำไว้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยราคาทองคำปีนี้เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากแรงซื้อของนักลงทุนที่มองทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงในสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงแรงหนุนจากความต้องการซื้อของธนาคารกลางและสถาบันการเงินทั่วโลก
ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านทวีความรุนแรง
ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศซึ่งมีสหรัฐฯ และมหาอำนาจอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้นมาก อิสราเอลได้เปิดปฏิบัติการ “Rising Lion” ซึ่งเป็นการโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล โดยมุ่งเป้าโจมตีฐานทัพและโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านกว่า 150 จุดใน 6 เมือง รวมถึงกรุงเตหะราน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากที่อิหร่านเคยยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอลเมื่อปี 2024 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในกองทัพอิหร่านจำนวนมาก
อิหร่านตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง และผู้นำสูงสุด อายาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ประกาศเดินหน้าพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ต่อไป พร้อมยกเลิกการเจรจากับสหรัฐฯ ความตึงเครียดนี้ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 7% เนื่องจากความเสี่ยงที่จะเกิดการปิดเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญอย่างช่องแคบฮอมุช ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันโลก กระตุ้นเงินเฟ้อและเพิ่มแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น
สถานการณ์ความขัดแย้งในอิสราเอลและผลกระทบทางการเมือง
อิสราเอลกำลังเผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงและซับซ้อนที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยต้องรับมือกับการโจมตีจากหลายทิศทางพร้อมกัน ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าอาจลุกลามกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาค ความขัดแย้งหลักแบ่งออกเป็น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่:
- ฉนวนกาซา – กลุ่มฮามาส เปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 จุดชนวนสงครามครั้งใหญ่ อิสราเอลตอบโต้ด้วย ปฏิบัติการทางทหารอย่างต่อเนื่องในพื้นที่
- เลบานอน – กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ ยิงจรวดและโดรนจากชายแดนเลบานอนเข้าใส่อิสราเอล นำไปสู่การปะทะรุนแรงตลอดแนวชายแดนตั้งแต่ ต้นปี 2024 เป็นต้นมา
- เวสต์แบงก์ ความตึงเครียดทวีความรุนแรงจากการปะทะกับกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ขณะเดียวกัน อิสราเอลยังคง ขยายเขตนิคมยิว ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่
- อิหร่านและพันธมิตร อิหร่านเปิดฉากยิงขีปนาวุธและโดรนใส่อิสราเอลโดยตรงเมื่อเดือนเมษายน 2024 นับเป็นการเผชิญหน้าระดับรัฐต่อรัฐที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเสี่ยงลุกลามเป็นสงครามระดับภูมิภาคจากการสนับสนุนของพันธมิตรอิหร่านในตะวันออกกลาง เช่น ซีเรีย อิรัก และเยเมน
ในด้านการเมืองภายใน นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู เพิ่งรอดพ้นจากการถูกยุบสภาอย่างเฉียดฉิว ด้วยคะแนน 61 ต่อ 53 จากทั้งหมด 120 เสียง หลังสามารถเจรจาได้กับพรรคร่วมรัฐบาลกลุ่ม Ultra-Orthodox ในประเด็นกฎหมายยกเว้นเกณฑ์ทหาร ส่งผลให้รัฐบาลยังสามารถดำรงอยู่ได้ต่อไปอย่างน้อยอีก 6 เดือน โดยระหว่างนี้จะไม่มีการยื่นญัตติยุบสภาได้อีก
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งภายในรัฐบาลยังไม่คลี่คลาย ท่ามกลางแรงกดดันจากทั้งฝ่ายค้านและประชาชน ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่สถานการณ์ความมั่นคงรอบประเทศยังทวีความตึงเครียดจากความขัดแย้งกับกาซาและอิหร่าน ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลยังคงอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างยิ่ง
ผลกระทบและการตอบสนองของนานาชาติ
หลายประเทศในตะวันออกกลางและชุมชนมุสลิมต่างประณามการโจมตีและเรียกร้องให้เกิดสันติภาพ ขณะที่จีนและสหประชาชาติออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หยุดความรุนแรงและแก้ไขปัญหาด้วยการทูต ส่วนสหรัฐฯ ได้แจ้งเตือนและอพยพบุคลากรบางส่วนจากสถานทูตในภูมิภาค พร้อมยืนยันว่าจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในความขัดแย้งครั้งนี้ ทางด้านอิสราเอลได้สั่งปิดสถานทูตทั่วโลกและเตือนชาวยิวให้ระมัดระวังมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเน้นโจมตีเป้าหมายระดับสูงในอิหร่านเพื่อสร้างแรงกดดันและตอบโต้ทางการเมือง
นักวิเคราะห์มองว่าอิหร่านไม่น่าจะยอมยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงชะตากรรมแบบลิเบีย ที่เคยละทิ้งโครงการนิวเคลียร์แล้วสุดท้ายรัฐบาลถูกล้มล้าง ส่งผลให้สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายเร็ว ๆ นี้
ขณะเดียวกัน โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ได้ย้ำคาดการณ์ว่า การเข้าซื้อทองคำจากธนาคารกลางทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง จะดันราคาทองคำขึ้นแตะ 3,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ภายในสิ้นปี 2568 และอาจทะยานขึ้นถึง 4,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ภายในกลางปี 2569 ขณะที่ธนาคารแบงก์ออฟอเมริกา (Bank of America) คาดว่าราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะแตะระดับ 4,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ภายใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นในทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงในยุคความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก
การคาดการณ์ราคาทองคำจากฮั่วเซ่งเฮง
ราคาทองโลกในช่วงต้นสัปดาห์นี้กลับมาผันผวนอีกครั้งหลังปัจจัยเข้ากระทบ แนะนำรอดูการเคลื่อนตัวในช่วงต้นสัปดาห์ซึ่งซื้อขายอยู่ในกรอบ 3,420-3,450 ดอลลาร์ (เทียบเท่าราคาทองในประเทศขายออกบาทละ 52,500 และ 52,950 บาทตามลำดับ) นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจไล่ซื้อตาม หากราคาทะลุแนวต้านที่ระดับ 52,950 บาทขึ้นไป และหากราคาลงทดสอบแนวรับแรกแล้วสามารถฟื้นตัวกลับ อาจทยอยเข้าซื้อสะสมบางส่วน